กทม.เปิดอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุ่งมหาเมฆ
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการสถานีดับเพลิงและกู้ภัย ทุ่งมหาเมฆ โดยมี นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ส.ส.กทม.เขต 3 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายอนุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร ผู้บริหารสำนักงานเขต คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมพิธี และ พลเรือตรี คมพันธ์ อุปลานนท์ เจ้ากรมสวัสดิการทหารเรือ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมแสดงความยินดี ณ สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุ่งมหาเมฆ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
อาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุ่งมหาเมฆนี้ สร้างขึ้นแทนอาคารเก่าซึ่งผ่านการใช้งานมากกว่า
50 ปี จนสภาพอาคารชำรุด แตกร้าว เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เสี่ยงเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อราชการ จึงได้ขอจัดสรรงบประมาณก่อสร้างใหม่ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นอาคารคอนกรีต 6 ชั้น (รวมชั้นดาดฟ้า) จำนวน 1 หลัง พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 3,356 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องเสมียนเวรวิทยุ ห้องปั๊มน้ำ ห้องคลังน้ำมัน ห้องธุรการ ห้องเวรเตรียมพร้อม ห้องหัวหน้าสถานี ห้องประชุม ที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และที่จอดรถดับเพลิง ซึ่งสามารถจอดได้จำนวน 13 คัน ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครในการดำเนินการก่อสร้าง รวม 66,200,000 บาท มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รวม 44 นาย พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 5.43 ตารางกิโลเมตร ดังนี้
ทิศเหนือ : เริ่มจากแยกนราธิวาสฯตัดสาทร ไปตามถนนสาทรใต้ถึงแยกวิทยุไปตามถนนพระราม 4
ถึงทางรถไฟตัดถนนพระราม 4
ทิศตะวันออก : ตั้งแต่ทางรถไฟตัดถนนพระราม 4 ไปตามถนนเชื้อเพลิงถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันตก : จากโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรีเลียบไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์
ถึงแยกนราธิวาสตัดสาทร
ทิศใต้ : เลียบไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรีถึงรอยต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับถนนเชื้อเพลิง
หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยคนปัจจุบัน คือ นายเฉลิมฤทธิ์ สีตะโสภาทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัยในพื้นที่ สามารถโทรแจ้งสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุ่งมหาเมฆได้ที่หมายเลข 0-2286-0140 หรือสายด่วน 199ศูนย์วิทยุพระราม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย.

รผว.ทวิดา ลงพื้นที่จตุจักรพลาซ่า แนะนำผู้ประกอบการป้องกันอัคคีภัย

รผว.ทวิดา ลงพื้นที่จตุจักรพลาซ่า แนะนำผู้ประกอบการป้องกันอัคคีภัย
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่จตุจักร พลาซ่า พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุวัฒน์ อ้นน่วม ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 1 นางดวงฤดี ปานเฟือง หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยพหลโยธิน และนายสมเจน ชูทอง หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน ให้ความรู้และแนะนำผู้ประกอบการในการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย อาทิ การติดตั้งถังดับเพลิง ป้ายทางออกฉุกเฉิน กำหนดจุดจอดรถดับเพลิงกรณีเกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น เพื่อให้สามารถระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน // ภาพ – กิตตินันท์ พลอยรัตน์

รผว.กทม.ทวิดา มอบประกาศฯ นักเรียนป้องกันฯ รุ่น 20

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยนางวราภรณ์ สุขสอาด ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์การป้องกันสาธารณภัย คณะผู้บริหาร ครูฝึก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและปิดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขั้นพื้นฐานรุ่นที่ 20 จำนวน 54 คน โดยมีนายจิรัฎฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติร่วมพิธี ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น กรุงเทพฯ เขตดินแดง
รศ.ทวิดาฯ รผว.กทม. กล่าวว่า จากการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ผ่านมา หลังจากนี้ขอให้ทุกท่านปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักทั้งของตัวเองและประชาชน และขอให้ผู้ปฏิบัติงานศึกษาทำความเข้าใจกับแผนประเภทภัยทั้ง 9 ภัย รวมถึงทำความรู้จักกับหน่วยงานข้างเคียงในการทำงาน เพื่อที่จะได้ประสานงานในการทำงานร่วมกันในการออกระงับเหตุ และขอแสดงความยินดีที่ผ่านการฝึกอบรมและขอขอบคุณทุกท่านที่เลือกที่จะเข้ามาทำงานในสายงานด้านนี้

สปภ.ร่วมงานแถลงข่าว “2ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่”

สปภ.ร่วมงานแถลงข่าว “2ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่”
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายนิรุจน์ จิตจินดา ผู้อำนวยการส่วนช่วยบัญชาการส่วนช่วยบัญชาการสาธารณภัย สำนักงานอำนวยการสาธารณภัย ในนามผู้แทนสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมงานแถลงข่าว “2ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับเมืองน่าอยู่” โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้นโยบายที่กำหนด รวมทั้งชี้แจงวิสัยทัศน์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ร่วมกับทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน

สปภ. ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ

นายสุริยชัย รวิวรรณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลราชกุมาร 29 เมษายน 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมพิธี ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เขตพระนคร
และขอเชิญชวนส่วนราชการตลอดจนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็ปไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2567

cr: ขอบคุณภาพ สปส.

สปภ.ติวเข้มการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย

สปภ.ติวเข้มการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย
วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเป็นผู้ฝึกสอนด้านการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย ครั้งที่ 1 ซึ่งนายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจเยี่ยมการจัดอบรมด้วย ณ อาคารที่ทำการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษและกู้ภัยทางน้ำ ถนนขาว แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดย นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมให้การต้อนรับ
นายประกอบ โพธิ์คาย ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 5 ได้กล่าวรายงานว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อปฏิบัติงานด้านการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ข้าราชการและบุคลากรสังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความรู้ ความชำนาญ ในการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้บุคลากรในองค์กรได้
การฝึกอบรมเป็นแบบไป-กลับ ณ อาคารที่ทำการฝ่ายปฏิบัติการพิเศษและกู้ภัยทางน้ำ ภายในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 1 แบ่งการฝึกเป็น 3 ส่วน คือ 1.) การฝึกอบรมภาคทฤษฎี ระยะเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 2.) การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 5-6 เมษายน 2567 และ 3.) การทดสอบประเมินผลหลังการฝึกอบรม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ร่วมเป็นวิทยากรและฝึกปฏิบัติ มีนักดับเพลิงและบุคลากรของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าร่วมรับการฝึกอบรม จำนวน 120 คน

ป.กทม. มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ศูนย์ อปพร. และ อปพร.ดีเด่น กทม. เนื่องในวัน อปพร. ประจำปี 2567

ป.กทม. มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ศูนย์ อปพร. และ อปพร.ดีเด่น กทม. เนื่องในวัน อปพร. ประจำปี 2567
วันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ประกาศเกียรติบัตร และเข็มเชิดชูเกียรติแก่ ศูนย์ อปพร. ดีเด่น อปพร. ดีเด่น เนื่องใน “วันสถาปนาอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)” ประจำปี 2567 โดยมี คณะผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อปพร.ทั้ง 50 เขต ผู้บริหารเขต ร่วมพิธีณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารที่ทำการศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวรายงานถึงการจัดงานว่า วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ “วัน อปพร.” ซึ่งการจัดตั้งศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ได้มีการจัดตั้งขึ้นทั้งในระดับกรุงเทพมหานคร และในทุกพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนงานแก่ทางราชการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งเป็นอาสาสมัครฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่เข้ามาช่วยเหลือการปฏิบัติงานด้วยความสมัครใจ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน นอกจากนี้ ได้จัดให้มีคณะกรรมการประสานงานศูนย์ อปพร. ทั้งในระดับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขต เพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงในการให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสวันสถาปนาอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ประจำปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาคัดเลือกศูนย์ อปพร. และ อปพร. ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น และจัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ ศูนย์ อปพร. ดีเด่น และ อปพร. ดีเด่น ประจำปี 2567 เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ ให้กับสมาชิก อปพร. โดยมีผู้เข้ารับมอบรางวัลเชิดชูเกียรติฯ ประกอบด้วย
– ศูนย์ อปพร. ดีเด่น ระดับกรุงเทพมหานครประจำปี 2567 จำนวน 3 ศูนย์ฯ ได้แก่ ลำดับที่ 1 ศูนย์ อปพร. เขตบางนา, ลำดับที่ 2 ศูนย์ อปพร. เขตมีนบุรี และ ลำดับที่ 3 ศูนย์ อปพร. เขตลาดพร้าว
– อปพร. ดีเด่น ระดับกรุงเทพมหานครประจำปี 2567 จำนวน 3 ราย ได้แก่ ลำดับที่ 1 นายชัยวัฒน์ อ่ำสกุล สังกัดศูนย์ อปพร. เขตบางนา, ลำดับที่ 2 นายการุณย์ ศุภกาญจน์ สังกัดศูนย์ อปพร. เขตบางกอกน้อย และ ลำดับที่ 3 นายมานิจ เจริญสิรกุลชัย สังกัดศูนย์ อปพร. เขตจอมทอง
– ศูนย์ อปพร. ดีเด่น และ อปพร. ดีเด่น ระดับศูนย์ อปพร. กลาง ได้แก่ ศูนย์ อปพร.เขตจอมทอง และ นางสุมล แสงรัตนไพบูลย์ อปพร. สังกัดศูนย์ อปพร.เขตจอมทอง จะเข้ารับรางวัล ในเวลา13.30น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ต่อไป
ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติงานของ อปพร. และแสดงความขอบคุณที่ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่ กทม. อย่างดียิ่งเสมอมา ด้วยความเสียสละและกล้าหาญ โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายหรือผลตอบแทนใดๆ และกรุงเทพมหานครจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งฝึกฝน อปพร. ให้มีความรู้ ทักษะ เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนให้พ้นจากภัยต่างๆ ขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็ง และภาคภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตน และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยตลอดไป

รับมอบเครื่องดื่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน สปภ.

รับมอบเครื่องดื่มสนับสนุนการปฏิบัติงาน สปภ.
วันที่ 14 มีนาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบเครื่องดื่มจากนายพยุท สงวนนาม ผู้จัดการด้านความปลอดภัยและชุมชนสัมพันธ์ บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของนักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุวัฒน์ อ้นน่วม ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 1 และตัวแทนนักดับเพลิงสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมรับมอบ ณ บริเวณหน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

// ภาพ-กิตตินันท์ พลอยรัตน์

รผว.ทวิดา ประชุมแนวดิ่งหัวหน้าฝ่ายและหน้าสถานีดับเพลิง สปภ.

รผว.ทวิดา ประชุมแนวดิ่งหัวหน้าฝ่ายและหน้าสถานีดับเพลิง สปภ.
วันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. รองศาสตราจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมแนวดิ่งหัวหน้าฝ่ายและหัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายจิรัฎฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกองปฏิบัติการดับเพลิง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน เน้นย้ำให้หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยนำข้อมูลใน Digital Map ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานรับมือกับสาธารณภัย เรียนรู้สารสนเทศ Digital ด้านความปลอดภัย รวมถึงฝ่ายวิชาการและฝ่ายปฏิบัติต้องพูดคุยหารือระหว่างกันอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงความห่วงใยในสุขภาพของนักดับเพลิงที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางกลุ่มควันอยู่เสมอด้วย

ผู้บริหารฯ กทม. ห่วงใยสถานการณ์พื้นที่ไฟไหม้

ผู้บริหารฯ กทม. ห่วงใยสถานการณ์พื้นที่ไฟไหม้

วานนี้ (6 มีนาคม 2567) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุริยชัย รวิวรรณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ซอยสาทร 13 แยก 6 พื้นที่เขตสาทร เมื่อเวลา 16.12 น. ที่ผ่านมา สถานที่เกิดเหตุ เลขที่ 30 ซอยสาทร 13 แยก 6 ถนนเจริญราษฎร์ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ปลูกติดกันหลายหลัง ต้นเพลิงเกิดขึ้นชั้นล่าง เพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหมด 4 หลังคาเรือน พื้นที่เพลิงไหม้เสียหายประมาณ 200 ตารางวา รถดับเพลิงใช้น้ำทำการดับเพลิงสงบ ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุเพลิงไหม้ไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหมด ที่เกิดเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บเพศหญิงจำนวน 1 ราย อาการถูกไฟลวกนิ้วเท้าทั้งสองข้างและบริเวณข้อมือ อาสาสมัครนำส่งโรง พยาบาลเลิศสิน พื้นที่รับผิดชอบของสถานีดับเพลิงและกู้ภัยยานนาวา ซึ่งกรุงเทพมหานครจะให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นต่อไป

ศูนย์วิทยุพระราม199

1 2 3 4 5