สปภ.ร่วมงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉิน อปท. ครั้งที่ 9

สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.)ร่วมเสวนาและจัดแสดงนิทรรศการด้านการกู้ภัย ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2568
วันที่ 13 มีนาคม 2568 นายไพฑูรย์ งามมุข รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมเสวนา เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการจัดการสาธารณภัย ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2568 “ท้องถิ่นก้าวไกล การแพทย์ฉุกเฉินไทยเข้มแข็ง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ในการจัดการประชุมเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดงานวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้หน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและนักวิชาการ ได้มีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติงาน โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้านการจัดการสาธารณภัยด้วย สำหรับงานประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-15 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ภาพ:ฆนากร บัวเกตุ

ผอ.สปภ.แชร์ประสบการณ์บริหารงานป้องกันสาธารณภัย

วันที่ 13 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 น. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อวิชา “การบริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและการดูแลความปลอดภัย” แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารมหานครระดับกลาง รุ่นที่ 33 ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ก.ก. ณ ห้องมิ่งเมือง ชั้น 4 โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทอื่นนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภททั่วไป ระดับอาวุโสหรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมจำนวนทั้งสิ้น 64 คน

ภาพ : กิตตินันท์ พลอยรัตน์

พิจารณารูปแบบการประชาสัมพันธ์และสื่องานประชุมจัดการภาวะวิกฤติ CMC 2025

วันที่ 10 มีนาคม 2568 นายไพฑูรย์ งามมุข รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ด้านบริหาร) ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดการประชุม Crisis Management Conference 2025 (CMC 2025) ประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ณ ห้องประชุมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยได้ร่วมกันพิจารณากำหนดรูปแบบการประชาสัมพันธ์การประชุมฯ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ พิจารณาป้ายประชาสัมพันธ์ การประสานองค์กรสื่อสารมวลชน รูปแบบสื่อและช่องทางการเผยแพร่ รวมถึงการจัดแถลงข่าว ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม Crisis Management Conference 2025 (CMC 2025) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและการตอบโต้ภัยพิบัติระหว่างผู้นำกลุ่มเมืองจากประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการภาวะวิกฤติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2568 ณ Asawin Grand Convention Hotel

สปภ.รับการตรวจราชการเฉพาะพื้นที่ ปีงบประมาณ 2568 รอบที่ 1

วันที่ 6 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 น. นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด หัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง และคณะ ในการตรวจราชการเฉพาะพื้นที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รอบที่ 1 (1 ตุลาคม 2567 – 31 มีนาคม 2568) ณ ห้องประชุมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานผลการดำเนินการตามข้อสั่งการของปลัดกรุงเทพมหานครและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครจากการตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รอบที่ 2 ผลการดำเนินการตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 อัตรากำลังบุคลากรของหน่วยงาน การดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผลการดำเนินการตัวชี้วัดตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ซึ่งผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูงรับจะนำปัญหาไปผลักดันแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานต่อไป

สปภ.ประชุมหัวหน้าสถานีดับเพลิง ร่วมถอดบทเรียนการระงับเหตุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน🧑‍🚒

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) ประชุมหัวหน้าฝ่ายและหัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยประจำเดือน โดยมีการรายงานเหตุสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การถอดบทเรียนในการระงับเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัยสำคัญๆ เพื่อวิเคราะห์ขั้นตอนการปฏิบัติงาน จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และหาแนวทางในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานต่อไป โดยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เน้นย้ำให้ทุกสถานีดับเพลิงและกู้ภัยเข้าถึงที่เกิดเหตุให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดขณะระงับเหตุจนทำให้ตกใจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องตระหนัก หาวิธีการที่เหมาะสมในการระงับเหตุ อย่าตระหนกจนกลัวและไม่กล้าทำ เพราะเวลาที่ยิ่งผ่านไปอันตรายและความสูญเสียจะยิ่งเพิ่มขึ้น

#สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร #สปภ.กทม. #เพลิงไหม้มีภัย.🔥📱📞โทร199 #ปลอดภัยดี 🚒

ผอ.สปภ.ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจนักเรียนป้องกันฯ รุ่น 21

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.15 น. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 21 ณ ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยได้มอบนโยบายแก่นายสนธยา ดำเปลื้อง หัวหน้ากลุ่มงานฝึกอบรม สำนักงานยุทธศาสตร์การป้องกันสาธารณภัย คณะครูผู้ปกครอง รวมทั้งให้โอวาทและขวัญกำลังใจกับนักเรียนหลักสูตรป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 21

เพิ่มประสิทธิภาพการระงับอัคคีภัยและสาธารณภัยกทม.เปิดอาคารที่ทำการสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก โดยมี นายวีรวุธ รักเที่ยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 17 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารหน่วยงานกรุงเทพมหานคร และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน โดย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมให้การต้อนรับ ณ อาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก ซอยเชื่อมสัมพันธ์ แยกถนนลำไทร ถนนเชื่อมสัมพันธ์ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โครงการก่อสร้างอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก จำนวนทั้งสิ้น 137,700,000 บาท โดยได้รับอนุญาตจากสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ใช้พื้นที่จำนวน 1 ไร่ และทำการโอนงบประมาณให้สำนักการโยธาดำเนินการก่อสร้างอาคารตามโครงการจนแล้วเสร็จ ส่งมอบพื้นที่พร้อมอาคารให้กับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นอาคารคอนกรีตสูง 8 ชั้น แบ่งเป็น ชั้น 1-3 เป็นส่วนของสำนักงาน โรงจอดรถดับเพลิง ชั้น 4-8 เป็นห้องพักเจ้าหน้าที่จำนวน 67 ห้อง ชั้นดาดฟ้า สำหรับเป็นหอสังเกตการณ์ เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ และลานกิจกรรม ด้านข้างสถานีเป็นหอฝึกกู้ภัย ความสูง 5 ชั้น พร้อมห้องบรรยาย

ปัจจุบันสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอก ได้รับจัดตั้งให้เป็นสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหลัก (เพิ่มใหม่) ตามมติ ก.ก.ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 และมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2567 มีกรอบอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ 42 อัตรา มีรถดับเพลิงและกู้ภัยประจำสถานีตามมาตรฐานและชนิดพิเศษ รวม 8 คัน รับผิดชอบพื้นที่เขตหนองจอก จำนวน 8 แขวง ประกอบด้วยแขวงหนองจอก แขวงกระทุ่มราย แขวงคลองสิบ แขวงคลองสิบสอง แขวงโคกแฝด แขวงคู้ฝั่งเหนือ แขวงลำผักชี และแขวงลำต้อยติ่ง รวมพื้นที่ประมาณ 236 ตารางกิโลเมตรมีบ้านเรือนประมาณ 74,000หลังคาเรือนประชากรประมาณ180,000 คน และมีชุมชนในพื้นที่จำนวน99ชุมชน

สถานีดับเพลิงและกู้ภัยหนองจอกนับเป็นสถานีดับเพลิงและกู้ภัยแห่งใหม่ที่ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้มีสถานีดับเพลิงและกู้ภัยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาเหตุอัคคีภัยและสาธารณภัย ให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอกและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี “ปลอดภัยดี” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารณภัยในพื้นที่สามารถโทรแจ้งได้ทางสายด่วน 199ศูนย์วิทยุพระราม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ประชุมการดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินที่ใช้ก่อสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสายไหม

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยนายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 3 หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางซ่อน และนิติกรสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมประชุมการดำเนินการกับผู้บุกรุกบนที่ดินราชพัสดุ ที่ใช้ก่อสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสายไหม โดยมีนายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสายไหม และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลมัย เชื้อแก้ว สำนักงานเขตสายไหม

//ภาพ : กิตตินันท์ พลอยรัตน์

ประชุมเตรียมการทดสอบร่างกาย ขรก.ที่ขอเปลี่ยนเป็นสายงานป้องกัน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 น. นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานการทดสอบความพร้อมด้านร่างกาย ของข้าราชการผู้ขอย้ายเปลี่ยนสายงานมาดำรงตำแหน่งในสายงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี พ.ศ.2568 ณ ห้องประชุมสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยกำหนดให้มีการทดสอบปีละ 3 ครั้ง ทุก 4 เดือน ภายในเดือนตุลาคม กุมภาพันธ์ และมิถุนายน ประกอบด้วยการทดสอบวิ่ง ทดสอบว่ายน้ำ และทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติงานด้วยท่าต่างๆ // ภาพ : กิตตินันท์ พลอยรัตน์

เสริมทักษะการตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน สปภ.กทม. ร่วมฝึกซ้อม RCD ครั้งที่ 6

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.กทม.) เข้าร่วมฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 6 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิตติ เพื่อเสริมทักษะในการตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์ การประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยนายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบหมายให้ นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง นายไพฑูรย์ งามมุข รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัย นักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ในสังกัดรวม 66 คน เข้าร่วมการฝึกซ้อมดังกล่าว รับผิดชอบการบัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ประจำศูนย์บัญชาการ EOC ควบคุมและปฏิบัติการชุดปฏิบัติการสื่อสารและอากาศยานไร้คนขับ ชุดปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย ชุดปฏิบัติการทางการแพทย์ EMT-B ชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย และการประสานงาน นอกจากนี้ยังได้ให้การสนับสนุนวัสดุ/อุปกรณ์ ประกอบด้วย รถกู้ภัยสารเคมี รถกระบะพร้อมเครนยก 6 ล้อ จำนวน 2 คัน รถบัญชาการณ์และการสื่อสาร จำนวน 1 คัน และรถบรรทุกน้ำดับเพลิง จำนวน 2 คัน เพื่อใช้ในการฝึกซ้อม
สำหรับการฝึกซ้อมแผนตอบโต้ภัยพิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน (Regional Collaboration Drill: RCD) ครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการจัดการภัยพิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยได้จำลองสถานการณ์อุทกภัยขนาดใหญ่ระดับ 4 เพื่อฝึกฝนระบบการดูแลผู้บาดเจ็บ การส่งต่อทางน้ำและอากาศ การจัดการสารเคมีและการกำจัดสารพิษ การประเมินความต้องการด้านสุขภาพ สุขภาพจิต โรคติดต่อ โรคที่เกิดจากน้ำ และโรคไม่ติดต่อ นอกจากนี้ ยังมีการจำลองการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประเมินขีดความสามารถของประเทศไทยในการประสานงานรับทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างประเทศในภาวะภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินขนาดใหญ่ด้วย

ภาพ : ทีมภาพและข่าวประชาสัมพันธ์ สปภ.

1 2 3 4 5 24